สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนเล่านิทานให้ลูกฟัง โดย ตุ๊บปอง

พ่อแม่ถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับลูก ดังนั้นเมื่อจะทำอะไรกับลูกจึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เช่นเดียวกันการที่จะเล่านิทานให้ลูกฟัง พ่อแม่ต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างดียิ่งเพื่อใช้ช่วงเวลาในการเล่านิทานเกิดประโยชน์สูงสุด

1.เตรียมภาวะอารมณ์

พ่อแม่ต้องตรวจสอบอารมณ์ตัวเองให้ได้ว่าอยู่ในภาวะอารมณ์ที่ดีหรือไม่ เพราะการใช้เวลากับลูกไม่ว่าจะเล่านิทาน อ่านหนังสือหรือทำอะไรกับลูกก็ตาม พ่อแม่ต้องผ่อนคลาย จะได้เล่น ได้เล่า ได้อ่าน หรือทำอะไร ๆ กับลูกอย่างปลอดโปร่ง สามารถแสดงออกถึงความรักที่แท้จริง ด้วยการกระทำที่ตั้งใจ มิใช่แสแสร้งเพราะเป็นหน้าที่ อย่าประมาท เพราะลูกตัวน้อยแค่ไหนก็สามารถรับความรู้สึกและอารมณ์ต่าง ๆ ของพ่อแม่ได้ ไม่สามารถหลอกลูกได้หรอก เพราะแววตา ท่าทาง และน้ำเสียงของพ่อแม่นั้น ลูกรับรู้ได้เป็นอย่างดี

2.เตรียมเวลา

เวลาของพ่อแม่เป็นสิ่งมีค่าสำหรับลูกทุกคน พ่อแม่จึงควรจัดสรรเวลาจัดตารางชีวิตของตัวเองให้ลงตัว เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับลูกได้อย่างมีคุณภาพ พ่อแม่ต้องตกลงกันให้ลงตัวว่าเวลาใดเป็นเวลาระหว่างพ่อกับลูก ที่พ่อจะได้เล่านิทานสนุก ๆ ให้ลูกฟัง เวลาใดเป็นเวลาระหว่างแม่กับลูก ที่แม่จะได้เล่านิทานแสนวิเศษให้ลูกฟัง และเวลาใดเป็นเวลาของพ่อแม่ลูก ที่จะสนุกสนานในโลกของนิทานร่วมกัน สำคัญที่สุดคือ ทั้งพ่อและแม่ต้องมีวินัยในการปฏิบัติตามตารางชีวิตที่วาดวางไว้ การเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ฟัง บ่อย ๆ พ่อแม่จะกลายเป็นที่รักของลูกมากยิ่งขึ้น เพราะช่วงเวลาที่พ่อแม่เล่านิทานสนุก ๆ นี่แหละเป็นช่วงเวลาที่ลูกเฝ้ารอในแต่ละวัน

3.เตรียมความรู้

การเลี้ยงลูกในปัจจุบันนี้ ความรักอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องมีความรู้ในการเลี้ยงดูลูกบ้าง การค้นหาองค์ความรู้ มีมากมายหลายช่องทาง เริ่มตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง คนในครัวเรือน เพื่อนบ้าน หนังสือ วิทยุ หรือแม้กระทั่งจากโทรทัศน์ พ่อแม่ต้องรู้ว่าลูกวัยนี้ต้องดูแลอย่างไร มีพัฒนาการอย่างไร ต้องเสริมต้องสร้าง ต้องปรับพฤติกรรมอย่างไร นิทานเรื่องใดที่สนุก เพลงใดที่จะทำให้ลูกสนใจและเคลื่อนไหวตามอย่างมีความสุข

4.เตรียมเสียง

การที่จะเล่านิทานให้ลูกฟังนั้นนอกจากต้องเตรียมตัวเตรียมใจแล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรมีการเตรียมเสียง ด้วย เพื่อสื่อคำพูด สื่อเนื้อหาจากนิทานอย่างมีความหมายด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงอารมณ์ของเนื้อเรื่องที่ลูกจะได้ฟัง กระทั่งเกิดความเข้าใจและเรียนรู้ได้อย่างง่าย ๆ การเล่านิทานให้ลูกฟังต้องออกเสียงให้ชัดเจนไปพร้อม ๆ กับสุ้มเสียงที่มีลีลาเสียงเล็ก เสียงน้อยให้ลูกคล้อยอารมณ์ตาม พ่อแม่บางคนอาจวิตกว่าไม่สามารถทำสุ้มทำเสียงได้อย่างนักพากย์เสียงดีที่เล่าด้วยน้ำเสียง และลีลาอย่างมืออาชีพทำให้น่าฟังมากกว่า จึงใช้ซีดีนิทานเป็นเครื่องทุ่นแรงในการทำหน้าที่แทน เรื่องนี้ไม่ต้องกังวลใจใด ๆ แม้ไม่สามารถทำสุ้มเสียง ให้เป็นไปตามบุคลิกภาพของตัวละคร ในเนื้อเรื่อง ขอให้เชื่อมั่นเถอะว่า น้ำเสียงธรรมดา ๆ ของพ่อแม่นี่แหล่ะคือ เสียงที่ดีที่สุด ที่จะเล่าเรื่องให้ลูกฟังได้อย่างสนุกสนานยิ่งกว่า เพราะเล่าด้วยใจ และลูกก็ฟังด้วยใจเช่นกัน

5.เตรียมท่าทาง

ถ้าจะให้นิทานที่เล่าสร้างความประทับใจอย่างไม่รู้ลืม พ่อแม่ควรมีการวางแผนในการเล่านิทานให้ลูกฟังอย่างดี อาจมีการเตรียมท่าทางที่เหมาะสมตามบุคลิกตัวละครในเนื้อเรื่องจากนิทาน ในขณะเล่านิทานให้ลูกฟัง พ่อแม่อาจใช้มือไม้ แข้งขา หูตา หน้าหัว เป็นส่วนประกอบสำคัญในการเล่าให้สัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง หรือใช้ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาสัตว์น้อย หุ่นมือ และของเล่นอื่น ๆ มาเป็นอุปกรณ์ประกอบทำให้การเล่านิทานน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

6.เตรียมสายตา

สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่พึงเตือนตนให้ตระหนักรู้ตลอดเวลา ในระหว่างการเล่านิทานให้ลูกฟังคือ การประสานสายตา กับลูก เพื่อให้ลูกได้รับรู้ถึงความรัก ความอบอุ่น ความปลอดภัย ไปพร้อม ๆ กับความสนุกสนาน การเรียนรู้ และการเกิดความรู้สึกร่วมในขณะฟังการเล่านิทาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *