กิจกรรมร่วมกับเครือข่ายหนังสือเพื่อเด็กฯ

ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประทศประกอบกับในปัจจุบันเด็กถูกแวดล้อมไปด้วยสื่อนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาเร็วและมีแรงดึงดูดความสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งอาจให้เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตและคุยโทรศัพท์มากกว่าการอ่านหนังสือ

เครือข่ายหนังสือเพื่อเด็กจึงได้ก่อกำเนิดขึ้น โดยมีองค์กรก่อตั้งรวม 25 องค์กร อันประกอบไปด้วย

  1. กระทรวงศึกษาธิการ
  2. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  3. กระทรวงวัฒนธรรม
  4. กระทรวงสาธารณสุข
  5. กระทรวงยุติธรรม
  6. สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
  7. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  8. มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
  9. สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (OKMD)
  10. สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK -Park
  11. สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
  12. สมาคมภาษาและหนังสือ แห่งประเทศไทย
  13. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  14. เสถียรธรรมสถาน
  15. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)
  16. มูลนิธิกระจกเงา
  17. มูลนิธิสิกขาเอเชีย
  18. สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก
  19. ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน สถาบันรักลูก
  20. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  21. เครือข่ายจิตอาสา(YIY)
  22. ขบวนการนักอ่าน
  23. ขบวนการตาสับปะรด
  24. สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก
  25. กลุ่ม We are happy

เครือข่ายหนังสือเพื่อเด็กทั้ง 25 องค์กรข้างต้น ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลักดันหนังสือเพื่อเด็กภายใต้ยุทธศาสตร์ดังนี้

  1. ยุทธศาสตร์การกระจายหนังสือให้เข้าถึงเด็กโดยผลักดันในการส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลและพรรคการเมืองต้องมีความชัดเจนด้านนโยบาย ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับกลไกต่างๆ ในการสนับสนุนการอ่านของเด็ก และการพัฒนาห้องสมุดชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้อันเป็นการกระจายหนังสือให้ ได้แก่ ครู ผู้ปกครอง และพี่เลี้ยงเด็ก เข้าถึงเด็ก
  2. ยุทธศาสตร์รณรงค์ให้เกิดความต้องการและพฤติกรรมการอ่าน สร้างเครือข่ายความร่วมมือของสื่อ ในการกระตุ้นการอ่าน และสร้างคุณค่าให้แก่การอ่านหนังสือ ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ที่เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง จนมีนิสัยรักการอ่าน และเพิ่มทักษะในการคัดเลือกหนังสือที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและพัฒนาการของเด็ก
  3. ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้มีหนังสือที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม ส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางนโยบายการผลิตหนังสือของประเทศ ที่มุ่งส่งเสริมให้มีการผลิตหนังสือดี มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของสังคมและประเทศชาติ ตลอดจนส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีศักยภาพการผลิตสูงขึ้นและสามารถกำหนดราคาหนังสือให้เหมาะสม เพื่อกระตุ้นความต้องการของตลาด
  4. ยุทธศาสตร์ปกป้องเด็กจากสื่อที่เป็นภัยและขจัดอุปสรรคต่อการอ่านของเด็ก สนับสนุนกระบวนการเฝ้าระวังสื่อ และกำหนดเกณฑ์ของหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของเด็กให้ชัดเจน และเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ ในปี 2550 นี้ เครือข่ายหนังสือเพื่อเด็กจะดำเนินโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น โดยมุ่งเน้นหนังสือเพื่อเด็ก 0 – 6 ปี เพื่อบ่มเพาะลักษณะนิสัยให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสำเร็จในชีวิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *