หนังสือเล่มแรก (Bookstart)

โครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart ที่ดำเนินการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ได้แนวคิดมาจากโครงการต้นแบบของประเทศอังกฤษ (Bookstart UK) ซึ่งเริ่มต้นโครงการเมื่อปี พ.ศ.25385 และโครงการตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น (Bookstart Japan) ซึ่งเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2543โดยให้ความสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ของเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6-9 เดือน ด้วยการมุ่งเน้นให้พ่อ แม่ทุกคนเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง รวมทั้งการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์ โดยมีเป้าหมายที่จะให้พ่อ แม่ ลูกมีความสุขร่วมกันในโลกของหนังสือ นำสู่การสร้างพื้นฐานการอ่านและสานสัมพันธ์ในครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยนิสัยรัก การอ่าน โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรของรัฐและเอกชนทั้งองค์กรส่วนกลางและองค์กรท้องถิ่น

ในทุกย่างก้าวของการทำงานในทุกปี และในทุกพื้นที่ จะเห็นภาพเป็นภาพเดียวกัน คือ เด็กน้อยในวัยขวบปีแรกนั้นเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมากมายจนน่ามหัศจรรย์ เริ่มตั้งแต่ เมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือออกเสียงดัง ๆ เด็ก ๆ จะแสดงความสนใจใคร่รู้ ด้วยการจ้องหน้าพ่อ มองหน้าแม่ที่กำลังอ่านหนังสือ เมื่อพ่อแม่ทำบ่อย ๆ ทำทุกๆ วัน วันละ  5 นาที 10 นาที เด็กเกิดการซึมซับ น้ำเสียง สีหน้า และภาษาของพ่อแม่ ยิ่งเมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังแล้วแสดงพฤติกรรม ตามตัวละครในหนังสือ พ่อสมมุติว่าเป็นตัวละครตัวนั้น แม่สมมุติว่าเป็นตัวละครตัวนี้ แล้วให้ลูกเป็นละครตัวใดตัวหนึ่งที่ลูกอยากเป็น กระบวนการเช่นนี้ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ชีวิตอย่างมีมิติที่ลึกซึ้ง

วิธีการใช้หนังสือเล่มแรก Bookstart กับเด็ก

  1. จัดมุมสบายๆ ในบ้านให้เป็นมุมหนังสือ เพื่อวางหรือแขวนถุงหนังสือเล่มแรกให้เป็นที่เป็นทาง เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า เมื่อใดที่ต้องการหนังสือจะมาหยิบจากมุมนี้
  2. จัดบรรยากาศในบ้านให้เอื้อต่อการอ่านหนังสือร่วมกัน เช่น ปิดโทรทัศน์แล้วเปิดหนังสือทุกวันหลังอาหาร 3 มื้อ
  3. อุ้มลูกนั่งตักแล้วสื่อรักด้วยหนังสืออย่างสม่ำเสมอ
  4. อ่านเมื่อไรก็ได้ อ่านที่ไหนก็ได้ อ่านได้ทุกเวลาในทุกสถานที่อย่างไม่จำกัด
  5. อ่านออกเสียงสูงๆ ต่ำๆ ทำเสียงเล็กเสียงน้อย หรือเน้นเสียงเน้นคำ ตามเนื้อเรื่องในหนังสือเพื่อกระตุ้นให้ลูกเกิดความสนใจในสิ่งที่มีอยู่ในหนังสือแต่ละหน้าพร้อมชี้ชวนให้เด็กดูภาพ กอด สัมผัส หยอกเย้าและเคลื่อนไหวร่างกายไปด้วย
  6. ในกรณีที่อ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านหนังสือไม่คล่อง ให้ใช้ภาพในหนังสือเป็นประเด็นในการพูดคุย ชี้ชวน และสอนเด็ก
  7. ใส่ใจและแสดงการตอบรับทุกครั้งที่เด็กแสดงความต้องการหนังสือ
  8. อ่านทุกวัน วันละ 5-15 นาที

ผลสำเร็จที่สำคัญยิ่งคือ

พบการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็ก ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายายและผู้ใหญ่ในบ้าน ใช้เวลากับเด็กมากขึ้น ทั้งร้องเพลง เล่านิทาน และอ่านหนังสือกับเด็ก โดยเฉพาะมีเวลาเล่นกับเด็กมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งพ่อแม่ยังได้ประเมินด้วยตัวเองว่า หลังจากใช้ชุดหนังสือเล่มแรกกับเด็กแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในครอบครัวอย่างชัดเจนทั้งด้านความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และการใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเด็ก

ผลพลอยได้จากการดำเนินโครงการครั้งนี้พบว่า ครอบครัวที่มีเด็กวัย 2-12 ปี อยู่ร่วมด้วย จะมีส่วนร่วมในการใช้ชุดหนังสือเล่มแรกด้วย เช่น ให้แม่อ่านให้ตนเองฟัง หรือเป็นคนอ่านให้น้องฟัง ซึ่งอาจนำมาพิจารณาใช้เป็นกระบวนการทดแทนในครอบครัวที่ผู้เลี้ยงดูหลักต้องทำงาน และไม่มีเวลาอยู่กับเด็กมากนัก

ชุดหนังสือเล่มแรก จึงเป็นอีกความพยายามหนึ่งของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กที่ได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขในครอบครัว และหวังว่าตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเช่นนี้จะถูกนำไปใช้ในวงกว้างยิ่งขึ้นเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะน่าเป็นทางรอดของครอบครัวไทยในสังคมที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติเช่นนี้

10 ปีของการทำงาน … เด็ก ๆ ในครอบครัวหนังสือเล่มแรกทำให้เห็นรูปธรรมว่า

ความสุข นั้นหาได้ไม่ยาก
ความสุข นั้นอยู่ใกล้ ๆ ตัวเรานี่เอง
ความสุข นั้นเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ในครอบครัว เมื่อนิ้วน้อย ๆ ของลูกมาแตะ เกาะกุมมือพ่อ แม่ขณะที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังอย่างอ่อนโยน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *